Education 3.0: Breaking the mold with technology
ในปี พ.ศ. 2559 บุคลากรทั้งหลายในแวดวงการศึกษา ต่างคุ้นชินกับคำว่า “ปฏิรูปการศึกษา” “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อเตรียมนักเรียน นักศึกษาของพวกเราให้พร้อมสำหรับอนาคต
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เชื่อว่าทุกท่านยังคงไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่าการศึกษาแบบที่พูดถึงกัน หรือที่รู้จักกันในชื่อ การศึกษาเวอร์ชัน 3.0 (Education 3.0) นั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร วันนี้ อจต จะเล่าให้ฟัง
สำหรับการศึกษาเวอร์ชัน 1.0 มีลักษณะพื้นฐานที่มีรูปแบบพฤติกรรมที่ตายตัว คือ นักศึกษาฟังคุณครูสอน จดโน๊ต อ่านหนังสือ ทำแบบฝึกหัดและต้องผ่านการทดสอบในชุดทดสอบที่มีรูปแบบเดียวกันกับนักเรียนคนอื่น เป็นรูปแบบการศึกษาที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับทุกคน หรือ ที่เรียกว่า one-size-fits-all education
รูปที่ 1. การศึกษา 1.0: ผู้เรียนคือผู้รับความรู้ (Learners as Receptacles of Knowledge)
สำหรับรูปแบบการศึกษาเวอร์ชัน 2.0 มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับเนื้อหามากขึ้นผ่านเทคโนโลยี เช่น เวปไซต์ วิกิ และ รูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการแก้ปัญหา นอกจากนี้ ผู้เรียนยังสามารถแบ่งปันเนื้อหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้มากขึ้นผ่านเครือข่ายสังคมต่าง ๆ ทำให้ในกระบวนการเรียนรู้ ผู้เรียนและผู้สอนมีการสื่อสาร โต้ตอบและมีความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น
รูปที่ 2. การศึกษา: ผู้เรียนสื่อสาร เชื่อมโยงและร่วมมือกัน (Learners as Communicating, Connecting, and Collaboration)
รูปที่ 3. สภาวะแวดล้อมการเรียนรู้ของการศึกษา 2.0
อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกท่านอาจจะคิดว่า รูปแบบการศึกษาแบบ 2.0 ก็น่าจะเป็นรูปแบบการศึกษาที่ดีพอแล้วไม่ใช่หรือ ทำไมเรายังต้องพยายามปรับปรุงเพื่อก้าวไปสู่รูปแบบที่เรียกว่า การศึกษา 3.0 อีก
เมื่อกลับไปพิจารณาองค์ประกอบและลักษณะของเวอร์ชัน 2.0 เราจะพบว่า ลักษณะการให้การเรียนรู้ยังมีหลักการอยู่บนแนวคิดเดิม คือ การให้ความรู้และการวัดผลแบบเดียวกันสำหรับนักเรียนทุกคน ส่วนที่เพิ่มเติมมีเพียงแค่การมีแหล่งความรู้และมีเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกจึงเกิดการปฏิสัมพันธ์มากขึ้น
การให้การศึกษาเพื่ออนาคตที่แท้จริง ควรจะเป็นการที่เราให้ความสำคัญกับทุก ๆ องค์ประกอบในกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สอน ผู้เรียน เครือข่าย การเชื่อมโยง สื่อ ทรัพยากรและเครื่องมือต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน (ดังแสดงในรูปที่ 4) เพื่อให้เราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลทั้งผู้เรียนและผู้สอน รวมถึงสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้ด้วย ดังนั้น การศึกษา 3.0 ควรจะเป็นการเตรียมสภาวะแวดล้อมทั้งหมดให้พร้อมสำหรับการให้การศึกษาที่เฉพาะเจาะจงกับผู้ศึกษาแต่ละคนในรูปแบบที่ผู้ศึกษาสามารถเลือกเองได้ ในเวลาที่ตนเองต้องการ
รูปที่ 4: การศึกษา 3.0: ผู้เรียนคือผู้เชื่อมโยง และ ผู้สร้างสรรค์ (Learners as Connectors, Creators, Constructivists)
การก้าวไปสู่รูปแบบการศึกษา 3.0 อาจจะทำให้เรามั่นใจได้ว่า พวกเราได้สร้างนักศึกษาให้เป็นผู้มีศักยภาพในการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง และพวกเขาจะมีความพร้อมในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดทุกรูปแบบผ่านการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาใหม่ ๆ ในอนาคตที่ไม่อาจคาดเดาได้